31 Oct October 31, 2014 by atcreative in Blog, e-Commerce News ธนาคารกสิกรไทยคาดว่า คนที่ใช้สมาร์ทโฟนส่วนหนึ่งจะเป็นกลุ่มคนที่มีบัตรเครดิตและนิยมในการช้อปปิ้งและเคยมีประสบการณ์ช้อปปิ้งผ่านออนไลน์บนเครื่องพีซี ดังนั้น สมาร์ทโฟนจึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการช้อปปิ้งได้เช่นกัน จากผลสำรวจของนีลเส็นพบว่า คนไทยเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ สนใจซื้อสมาร์ทโฟนภายในปีนี้ ซึ่งต่างจากเมื่อ 3 ปีก่อน ที่มีสัดส่วนการซื้อสมาร์ทโฟนในตลาดเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทำให้เห็นถึงการเติบโตของตลาดสมาร์ทโฟนที่ใหญ่มาก สร้างความมั่นใจบนมือถือ อาจ วิเชียรเจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เผยว่า ทางธนาคารได้พัฒนา Mobile Payment เพื่อขยายช่องทางการชำระเงินบนสมาร์ทโฟนให้กับร้านค้า ซึ่งเพิ่มความมั่นใจในความปลอดภัยของการชำระเงินโดยร่วมมือกับวีซ่า พัฒนาบริการโมบายล์ เวอริฟายด์ บายวีซ่า (Verified by VISA หรือ VbV) ที่เป็นระบบรักษาความปลอดภัย โดยเปิดใช้บริการครั้งแรกในประเทศไทยและในโลก อาจ คาดการณ์ว่า วีซ่าจะใช้บริการโมบายล์ เวอริฟายด์ บาย วีซ่า แบบการให้บริการเรื่องความปลอดภัย เพื่อรองรับธุรกรรมการเงินผ่านสมาร์ทโฟนให้กับธนาคารอื่นๆ เช่นเดียวกับบนเว็บไซต์ โดยธนาคารกสิกรไทยพัฒนาหน้าจอ Payment Gateway ของธนาคาร ให้สามารถเชื่อมต่อกับแอพพลิเคชั่นร้านค้าได้กลมกลืนกัน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการเชื่อมต่อระบบชำระเงินในรูปแบบนี้บนสมาร์ทโฟนและได้รับความปลอดภัยเทียบเท่ากับการซื้อผ่านหน้าเว็บไซต์บนคอมพิวเตอร์พีซีนอกจากนี้ ยังพัฒนาระบบให้ทำการเชื่อมต่อระบบ Payment Gateway เข้ายังแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน ทั้งไอโฟน แบล็กเบอร์รี่ แอนดรอยด์ และวินโดวส์โฟนด้วย “ก่อนหน้านี้ การชำระเงินด้วยบัตรเครดิตบนโทรศัพท์มือถือผ่านแอพพลิเคชั่นของร้านค้าจะเป็นการเชื่อมระบบ Payment Gateway ของธนาคารแบบโมบายล์เว็บไซต์ ซึ่งไม่มีระบบรักษาความปลอดภัยทั้ง Verified by VISA และ MasterCard Secure Code ให้กับบัตรเครดิต จึงเป็นเพียงการกรอกข้อมูลเลขที่บัตร และวันหมดอายุเท่านั้น ซึ่งรูปแบบนี้หากมีการขโมยข้อมูลเกิดขึ้นจะไม่สามารถฟ้องร้องค่าเสียหายได้” อาจ กล่าว หน้าร้านค้าสวยและปลอดภัยขึ้น ร้านค้าสามารถสร้างแอพพลิเคชั่นขายสินค้าได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น โดยไม่ต้องกังวลกับการสร้างหน้าชำระเงิน เพื่อทำการเชื่อมต่อไปยังระบบ Payment Gateway ของธนาคาร ที่อาจเกิดความเสี่ยงในการให้บริการ เมื่อลูกค้าซื้อสินค้าหรือบริการ หน้าชำระเงินจะเชื่อมมายังระบบชำระเงินด้วยบัตรเครดิตสำหรับกรอกข้อมูลบัตร ตรวจสอบรายการชำระเงิน และยืนยันการทำธุรกรรม โดยธนาคารจะส่งรหัส OTP ผ่านทาง SMS ซึ่งระบบจะทำการตรวจสอบความถูกต้องและแสดงผลการทำธุรกรรมเพื่อให้ผู้ถือบัตรใช้กรอกบนหน้าชำระเงิน อาจ อธิบายว่า OTP เป็นระบบตรวจสอบและรักษาความปลอดภัยที่มีมาตรฐานสูงสุดในขณะนี้ ผู้ถือบัตรไม่ต้องกังวลว่าผู้อื่นจะทราบรหัสและนำไปใช้เพราะเป็น SMS ที่ส่งตรงถึงเจ้าของบัตรและใช้ได้เพียงครั้งเดียว ผู้ถือบัตรจึงไม่ต้องจำเป็นต้องจำรหัสผ่าน “เมื่อพบว่ามีความผิดปกติในรายการค่าใช้จ่ายบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต สามารถแจ้งปฏิเสธการชำระเงินได้ทันที” อาจชี้ถึงข้อดีของการใช้บัตร เพิ่มประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า อาจชี้ถึงพันธมิตรที่ใช้บริการทั้ง 7 รายได้แก่ แอมเวย์ สายการบินนกแอร์ เพย์สบาย เอสเอฟซีนีม่า ตลาดดอทคอม การบินไทย และไทยทิตเก็ตเมเจอร์ ในช่วงแรกนี้ว่า เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความพร้อมและเห็นถึงความสำคัญของ M-Commerce โดยแต่ละรายมีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นให้บริการลูกค้าอยู่แล้ว เมื่อธนาคารพัฒนาระบบชำระเงินให้เชื่อมต่อกับแอพพลิเคชั่นได้อย่างปลอดภัยจึงเป็นกลุ่มแรกที่พร้อมเข้ามาใช้บริการ ลูกค้าของธนาคารกสิกรไทย ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม สายการบิน ตัวแทนขายตั๋ว และแพ็กเกจทัวร์ แต่ขณะนี้เริ่มมีธุรกิจขายเสื้อผ้าแฟชั่นรายใหญ่เข้ามามากขึ้น เพราะผู้บริโภคสามารถช้อปปิ้งได้ตลอดเวลา ผ่อนจ่ายกระตุ้นช้อปออนไลน์ อาจ กล่าวถึงบริการ KBank Smart Pay ที่เพิ่งเปิดให้บริการแก่ลูกค้าบัตรเครดิตของธนาคารว่า สามารถช้อปปิ้งแบบแบ่งจ่ายรายเดือนในการซื้อสินค้าออนไลน์ได้ ซึ่งเป็นอีกบริการเด่นที่เปิดให้บริการครั้งแรกของไทย โดยร้านค้าต้องพิจารณาร่วมกับธนาคาร ทั้งเรื่องอัตราดอกเบี้ย และการวางแผนโปรโมชั่นผ่อนชำระ ซึ่งระบบ Payment Gateway ได้มีการวางโครงสร้างพื้นฐานไว้รองรับในเรื่องการแบ่งจ่ายรายเดือนอยู่แล้ว “จุดเด่นของ KBank Smart Pay คือช่วยให้ร้านค้าออนไลน์มีระบบชำระสินค้ากับลูกค้า โดยร้านค้าจะได้รับเงินสดจากธนาคารทันทีที่มีการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้า แต่สำหรับการผ่อนชำระบัตรเครดิตจะเป็นการทำธุรกรรมระหว่างลูกค้ากับธนาคารและเพิ่มความหลากหลายในการเลือกชำระเงินซื้อสินค้าออนไลน์ ส่งผลให้มีโอกาสขายสินค้าได้มากขึ้น” อาจ อธิบายถึงจุดเด่นของ KBank Smart Pay อาจ กล่าวเสริมว่า Smart Pay ยังไม่เปิดบริการสำหรับร้านค้าออนไลน์บนสมาร์ทโฟน เนื่องจากอยู่ในช่วงกำลังพัฒนาระบบ คาดว่าภายในปีนี้น่าจะมีร้านค้าออนไลน์สนใจเข้าร่วมบริการ KBank Smart Pay ประมาณ 10 ร้าน โซลูชั่นระบบชำระเงินร้านค้า สำหรับ M-Commerce ช่วงนี้ต้องใช้เวลาในการพัฒนาทั้งระบบและการเชื่อมต่อกับดีไวซ์ต่างๆ อีกมาก เพราะต้องทำงานร่วมกับเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ดังนั้นในส่วนของธนาคารจึงต้องเน้นให้ความสำคัญกับบริการ ขณะนี้ ธนาคารกสิกรไทยสร้างโซลูชั่นให้กับร้านค้าออนไลน์โดยเน้น 2 เรื่อง ได้แก่ 1) ระบบชำระเงินด้วยบัตรเครดิตบนโทรศัพท์มือถือ เพื่อรองรับเทรนด์ของผู้บริโภคที่ใช้สมาร์ทโฟนในการช้อปผ่านแอพพลิเคชั่นของร้าน และ 2) KBank Smart Pay บริการแบ่งจ่ายรายเดือน ที่ช่วยให้ร้านค้าออนไลน์สามารถโปรโมตสินค้าและบริการ ขยายฐานลูกค้าที่นิยมการซื้อสินค้าผ่อนชำระผ่านบัตรเครดิต